Powered By Blogger

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560

Emergency locator transmitter (ELT)

Emergency locator transmitter (ELT)


ตลอดเวลาที่ทำการบิน นักบินจะต้องมอนิเตอร์คลื่นความถี่ 121.5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ฉุกเฉินที่เรียกกันทั่วไปว่า Guard เพื่อคอยเฝ้าฟังและใช้ในกรณีฉุกเฉินกับเครื่องบินของเราเองหรือเครื่องบินลำอื่นในน่านฟ้าเดียวกัน บางครั้งเราจะได้ยินสัญญาณวิทยุส่งเสียงเป็นมอร์สโค๊ดที่อาจจะเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือมาจากเครื่องบินหรือเรือที่อยู่ในบริเวณนั้น
บนเครื่องบินแอร์ไลนส์ จะมีอุปกรณ์เพื่อช่วยในการค้นหาโดยทีมกู้ภัยในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ มันคือ Emergency locator transmitter หรือเรียกย่อว่า ELT(อีแอลที) ซึ่งจะมีสองแบบที่อยู่บนเครื่องบิน
แบบแรก เรียกว่า Automatic ELT ซึ่งจะติดตั้งถาวรอยู่บนเครื่องบินในบริเวณลำตัวด้านบนภายในเคบิน ทำงานโดยมีเซนเซอร์วัดอัตราเร่งหรือแรงจี(G-switch) ที่เกิดขึ้นขณะที่เครื่องบินกระแทกพื้น ซึ่งจะทำให้ระบบส่งสัญญาณเริ่มทำงานและส่งตำแหน่งของเครื่องบินไปให้หน่วยกู้ภัยรับทราบ
แบบที่สอง เรียกว่า Survival ELT ซึ่งเป็นแบบเคลื่อนที่ได้ ลูกเรือจะต้องนำลงไปด้วยหลังจากเกิดอุบัติเหตุซึ่งต้องอพยพผู้โดยสารออกจากเครื่องบิน
ทั้งสองแบบจะส่งสัญญาณคลื่นความถี่สามคลื่นออกมา ได้แก่ 121.5 243 และ 406 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นความถี่ 121.5 เป็นคลื่นความถี่สากลในกรณีฉุกเฉินที่ใช้กันในวงการการบินทั่วไป ส่วนคลื่นความถี่ 243 ใช้ในวงการทหาร และคลื่นความถี่ 406 เป็นคลื่นความถี่ที่ใช้กับระบบดาวเทียมค้นหาและช่วยชีวิตซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษ มันมีความแม่นยำและง่ายกว่าในการค้นหาเนื่องจากจะส่งข้อมูลตำแหน่งที่ได้จากระบบ GPS ที่อยู่ในตัว ELT 
ในปีคศ.1979 สี่ประเทศใหญ่ของโลก ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต(ในสมัยนั้น) ได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่ประสานข้อมูลที่ได้จากระบบ ELT องค์กรความร่วมมือนี้ชื่อว่า The International Cospas-Sarsat โดยคำว่า Cospas เป็นภาษารัสเซียครับ มาจากคำเต็มๆว่า Cosmicheskaya Sistema Poiska Avariynyh Sudov ซึ่งแปลว่า ระบบสำหรับการค้นหาเครื่องบินหรือเรือที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นโดยใช้สัญญาณจากดาวเทียม ส่วนคำว่า Sarsat มาจากภาษาอังกฤษคือ Search And Rescue Sattellite-Aided Tracking ประเทศไทยของเราก็เป็นหนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนระบบนี้เช่นกัน โดยเป็นทั้งผู้ติดตั้งระบบดังกล่าวในภาคพื้นและผู้ใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ คศ.2009 ระบบ Cospas-Sarsat ได้หยุดประมวลสัญญาณฉุกเฉินที่มาจากคลื่นความถี่ 121.5 และ 243 เมกะเฮิรตซ์ จะรับประมวลผลเฉพาะสัญญาณที่มาจากคลื่นความถี่ 406 ที่ใช้กับดาวเทียมเท่านั้น แต่คลื่นความถี่ 121.5 และ 243 ที่ส่งออกมาจาก ELT ก็ยังคงเป็นประโยชน์ในการค้นหาโดยหน่วยกู้ภัยท้องถิ่นเพื่อช่วยกันค้นหาตำแหน่งที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้เร็วขึ้นครับ
-------
Credits: en.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น