Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560

CAT




CAT

วันนี้ไม่ได้มาพูดเรื่องแมวนะครับ จะมาเล่าเรื่องของกระแสอากาศแปรปรวนที่ไม่ได้เกิดจากเมฆหรือหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) เรียกมันโดยย่อว่า CAT ชื่อเต็มของมันก็คือ Clear air turbulence

เจ้าตัวแสบนี่มันเกิดได้บ่อยที่สูงๆครับ ความสูงตั้งแต่ 7-12 กิโลเมตรนู่น ศัพท์ทางอุตุนิยมวิทยาเรียกย่านการบินนี้ว่า Tropopause ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างย่าน Troposphere กับ Stratosphere

ความแตกต่างระหว่าง Troposphere กับ Stratosphere เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความแรงของกระแสลมทำให้ย่าน Tropopause เป็นอะไรที่เสี่ยงอยู่พอสมควรครับ เครื่องบินมักจะไปบินอยู่ในย่านนี้เป็นเวลายาวนานซะด้วย โดยเฉพาะเที่ยวบินที่บินระยะไกลข้ามทวีป

ลักษณะนิสัยของเจ้าแมวหง่าวตัวนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความเร็วกระแสอากาศอย่างมากในแต่ละชั้นความสูงครับ จึงเกิดสภาวะแปรปรวน ถ้าเครื่องบินบินผ่านเข้าไป จะเหมือนกับขับรถตกหลุมลึก เค้าเลยเรียกอีกชื่อของมันว่า Air pocket

ถามว่านักบินจะรู้ก่อนมั๊ยว่าจะต้องบินเข้าไปเจอ CAT?

คำตอบคือ พอรู้คร่าวๆครับ ก่อนทำการบิน นักบินจะได้ศึกษาแผนที่อากาศที่เรียกว่า Significant weather chart (SWC) ซึ่งจะบอกตำแหน่งคร่าวๆของเจ้าแมวนี่ ซึ่งนักบินจะต้องระวังเอาเองในระหว่างบิน

พอขึ้นบินไปแล้ว เรดาร์ตรวจอากาศบนเครื่องบินไม่สามารถตรวจพบเจ้าแมวนี่ได้ครับ นักบินจะต้องสังเกตุเอาเองจากอากัปกิริยาของเครื่องบิน อีกอย่างที่พอช่วยได้ถ้าไม่ได้บินกลางคืน ก็คือย่านที่มี CAT มันจะมีเมฆรูปทรงคล้ายขนนกสวยงามแต่แฝงไปด้วยอันตรายลอยอยู่กระจัดกระจาย ชื่อของมันคือ Cirrus ครับ อันนี้ก็พอจะบอกได้ว่ามีโอกาสเจอ CAT สูงพอตัว

แล้วถ้าแผนที่ SWC ระบุตำแหน่งของ CAT อยู่บริเวณเดียวกับกระแสลมกรดหรือ Jetstream อย่างนี้นักบินยิ่งต้องระวังอย่างแรง โชคดีที่ท้องฟ้าแถวบ้านเราไม่มีกระแส Jetstream ครับ ต้องเป็นย่านละติจูดสูงขึ้นไปหน่อย แถวๆ ญี่ปุ่น เกาหลี ขึ้นไปนั้นแหละ เจอบ่อยเลย

เวลาบินผ่านย่านที่คาดว่าจะมี Clear air turbulence ก็ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นจริงๆนะครับ เส้นทางที่เราบินผ่านนั้นเป็นแค่เสี้ยวเดียวของบริเวณ CAT ที่วาดไว้ในแผนที่อากาศ ดังนั้นจึงอาจจะบินผ่านไปได้โดยปกติไม่เขย่าเลยซักกะนิด หรืออาจจะมีเขย่าบ้างเล็กน้อย นักบินก็จะต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรว่าจะประกาศเตือนผู้โดยสารและลูกเรือตามสมควรเพื่อไม่ให้วิตกจริตจนเกินไป

ปลอดภัยที่สุดก็คือ ผู้โดยสารต้องรัดสายเข็มขัดที่นั่งทุกครั้งขณะนั่งอยู่กับที่ครับ เกิดอะไรขึ้นมาเราก็รอดแน่นอน ไม่ว่าจะเจอ CAT หรือไม่ก็ตาม

ขอให้ท่านผู้โดยสารที่รักเดินทางปลอดภัยทุกท่านครับ

-----

CR: รูปสวยๆจาก
www.popsugar.com
www.angelfire.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น