Powered By Blogger

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560

กว่าจะได้เป็นนักบิน

กว่าจะได้เป็นนักบิน

มีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมต้องจ่ายค่าตอบแทนนักบินสูงกว่าอาชีพอื่นอีกหลายอาชีพ ผมเองก็ไม่ทราบคำตอบที่ชัดเจน แต่พอจะเดาได้ว่าทำไม กว่าจะฝึกนักบินแอร์ไลนส์มาได้สักคนนี่ไม่ง่ายและก็ไม่ยากเกินมนุษย์มนา ผมบอกน้องๆนักบินรุ่นหลังอยู่บ่อยๆว่า เป็นนักบินแอร์ไลนส์นี่ไม่ใช่เทวดานะ เราเป็นผู้ทำงานแลกกับค่าตอบแทนที่บริษัทเอาเงินจากผู้โดยสารผู้มีอุปการะคุณ ดังนั้นทำอะไรต้องแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ

คำว่ามืออาชีพในที่นี้หมายถึง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามกับชีวิตของเรา แต่เมื่อต้องทำหน้าที่บิน เราต้องทำให้เหมือนเดิมทุกครั้ง ผู้คนเดินทางโดยเครื่องบิน มีความเสี่ยงสูง แต่เป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพราะมีการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุไว้อย่างดีเพราะนักบินนี่แหละที่มีส่วนมากที่สุด นักบินเป็นผู้ควบคุมเครื่องบิน เป็นผู้ตัดสินใจทุกอย่างระหว่างเดินทาง เป็นผู้กำชะตาชีวิตของผู้โดยสารและลูกเรือเอาไว้ จึงต้องผ่านการฝึกฝนและทบทวนโดยตลอด

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ ก็สมัครสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักบินได้แล้ว แต่จะเหลือไม่กี่คนที่จะทำฝันให้เป็นจริง ผมเป็นหนึ่งในผู้โชคดีในสมัยนั้น เมื่อยี่สิบเอ็ดปีที่แล้ว พศ.2537 หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรืออากาศ ชีวิตพลิกผัน ไม่ได้เป็นนักบินทหารอากาศ แต่โชคดีที่สามารถสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักบินทุนของบริษัทการบินไทยได้ เพื่อนร่วมรุ่นมีทั้งหมดสิบเก้าคนรวมผมด้วย มีสามคนที่ไม่ได้มาจากการคัดเลือกของการบินไทย แต่สุดท้ายหลังเรียนจบก็มาสมัครเข้าเป็นนักบินการบินไทยจนได้คนนึง อีกสองคนเป็นทุนของสถาบันการบินพลเรือนเองและเรียนเพื่อจบแล้วบรรจุเข้าเป็นครูการบินที่โรงเรียนการบินหัวหิน

การสอบเข้าเป็นนักบินมีขั้นตอนที่ต้องผ่านให้ได้ทั้งหมดห้าขั้นตอน ได้แก่ การสอบข้อเขียน การตรวจร่างกาย การสอบสัมภาษณ์โดยกัปตันของบริษัทการบินไทย การสอบความถนัดหรือแอพติจูดเทสต์(Aptitude test) และสุดท้ายจบด้วยการสอบสัมภาษณ์โดยโปรเฟสเซอร์ทางด้านจิตวิทยาซึ่งว่าจ้างฝรั่งมาสอบตัวต่อตัว แต่ละขั้นตอนทางบริษัทจะประกาศชื่อไปทีละขั้น

การสอบข้อเขียน ผมจำอะไรไม่ได้เลยว่ามันยากหรือง่ายอย่างไร รู้แต่ว่าตลุยทำข้อสอบแบบมึนๆ ใจคิดตลอดว่าทำไม่ได้ตั้งหลายข้อ สงสัยไม่ได้แน่ ออกจากห้องสอบมาแบบไร้ความหวัง แต่พอประกาศผลมาก็ผ่านมาได้ รอบต่อมาต้องไปตรวจร่างกายที่เวชศาสตร์การบิน ก็ผ่านมาได้ครับ เอาล่ะวะ ผ่านมาสองด่านแล้ว เริ่มมีความหวัง พระเจ้าทรงโปรดให้ยังอยู่ต่อไปในเส้นทางแห่งฝัน

รอบที่สาม สอบสัมภาษณ์โดยกัปตันผู้ใหญ่ของการบินไทย อันนี้เครียดมากเพราะถูกถามเดี่ยวโดยกัปตันสามท่านที่ประเคนคำถามกวนโอ้ยและคำถามแบบว่าต้องให้เราแสดงความรู้เรื่องการบินพอสมควร ไอ้ตัวกระผมเองคุณพ่อเป็นทหารอากาศ อีกทั้งตัวเราก็จบจากโรงเรียนนายเรืออากาศ ก็เลยพอจะเดาทางได้ กัปตันที่สอบสัมภาษณ์ท่านจะถามคำถามกดดันตลอดเพื่อดูว่าเราจะหลุดหรือป่าว ไม่ได้แอ้มผมหรอกครับ งานนี้เลยผ่านมาได้ฉลุย

ด่านที่สี่ รองสุดท้าย เข้าสอบความถนัดพร้อมกันหลายคน เดินทางไปสอบที่โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตันที่ถนนเจริญกรุง รอบนี้ก็เครียดมากเพราะข้อสอบมหาหิน สมองแทบจะระเบิด สอบตั้งแต่เช้ายันเย็น ระหว่างนั่งสอบ ผู้คุมสอบก็จะค่อยๆสะกิดออกไปทีละคน ผมนี่แทบจะไม่มีกะจิตกะใจทำข้อสอบเพราะกลัวถูกสะกิด จนแล้วจนรอดก็ได้นั่งอยู่จนทำข้อสอบครบ โอย ลุ้นขี้แตกขี้แตน

รอบสุดท้ายแล้ว รอบตัดสินชะตาชีวิต การบินไทยประกาศรายชื่อพร้อมเวลานัดหมายให้เข้าสอบกับโปรเฟสเซอร์ฝรั่งจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียนครับ ห้องสอบคือห้องพักของโปรเฟสเซอร์ที่โรงแรมนั่นเอง ผมเดินไปที่ห้อง เคาะประตูเพื่อขออนุญาตตามธรรมเนียม แล้วเข้าไปนั่งที่โต๊ะสอบ ท่านโปรเฟสเซอร์ของผมแต่งตัวสบายเหลือเกินเมื่อเทียบกับผมเองที่แต่งชุดทหารซะเต็มยศ คำพูดแรกที่เค้าบอกผมคือ

“ยูโน้ว์ ยูแฮฟอะพรอบเบรมอะเบ้าท์ชอร์ทเทอมเมมโมรี่” (คุณรู้มั๊ย คุณมีปัญหาเรื่องความจำในระยะสั้น)

“บัท แดทส์โอเค ไอวิลครอสเช็คยูนาว” (แต่บ่เป็นหยัง ข้อยจะตรวจสอบคุณอีกครั้ง)

“จะรอดมั๊ยเนี่ยตรู” ผมคิดในใจแบบกังวลลึกๆ แต่ไม่มีอะไรจะต้องกลัวแล้วครับ มาถึงรอบสุดท้ายแล้ว ใส่ไม่ยั้ง ผมทำข้อสอบตามที่ท่านโปรเฟสเซอร์สั่งไปเรื่อยๆ มีข้อสอบอันนึงที่ค่อนข้างยากสำหรับผมคือให้ทวนจำนวนเลขถอยหลัง แบบว่าบอกตัวเลขมาสิบตัวแบบให้จำสดๆ แล้วให้ผมพูดย้อนจากท้ายมาหน้า โอย เหงื่อตกกีบเลยคุณผู้ชม จากนั้นผมก็ต้องทำบททดสอบที่หินอีกอัน คือต้องถือปากกาสองแท่งด้วยสองมือ แล้วเดินปากกาไปตามเส้นทางที่เขียนไว้บนกระดาษทดสอบ โดยฟังสัญญาณเคาะโต๊ะจากโปรเฟสเซอร์ แบบว่าพอเคาะที ผมก็เดินปากกาที โดยผลัดกันเดินสองมือจิ้มปากกาไปบนกระดาษ โป๊กหนึ่งก็มือซ้าย โป็กนึงก็มือขวา พร้อมๆไปกับการตอบคำถามคณิตศาสตร์ที่ท่านโปรเฟสเซอร์ประเคนมาถามกันสดๆในตอนนั้น คำถามแบบว่า ยี่สิบคูณสิบสองเป็นเท่าไหร่ เก้าบวกเจ็ดลบสี่เป็นเท่าไหร่ อะไรทำนองนี้ ต้องแบ่งสมองไปคิดคำตอบในขณะเดียวกับที่ต้องเดินปากกาไปตามทางให้ถูกด้วย โอย คิดได้ไงเนี่ย

สรุปว่าวันนั้น ผมคงทำได้ดีพอใช้ พอสอบเสร็จ ท่านโปรเฟสเซอร์ขอเช็คแฮนด์กับผม แล้วบอกว่า
“หยู่โหนว หยู่ดิดอะเกรทจ๊อบทูเดย์ แท้งกิ้วแอนด์กู๊ดลัก เจนเทิลแหม่น”
แปลว่าผมทำได้ดีมากในวันนี้ ขอให้โชคดีท่านสุภาพบุรุษ 


ผมถอนหายใจเฮือกใหญ่ กล่าวขอบคุณแล้วเดินจากมาแบบสมองชาๆเพราะใช้งานหนัก และยังต้องลุ้นอีกหลายวันกว่าที่จะประกาศผลสอบอย่างเป็นทางการ

จนวันนั้นมาถึง ผมยังอยู่ที่โคราชเพราะไปทำงานที่ฝูงบินในฐานะนายทหารฝ่ายช่างสรรพาวุธอิเลคโทรนิคส์ของเครื่องบินแบบ L39 ของกองทัพอากาศที่เพิ่งได้รับมาสดๆร้อนๆ ผมได้รับโทรเลขจากบริษัทการบินไทยว่าสอบผ่านการคัดเลือกและขอให้ไปรายงานตัวที่บริษัทโดยด่วน พระเจ้าจ๊อด!! วินาทีนั้นมันช่างหอมหวานและมีความสุขที่สุดอีกครั้งนึงในชีวิตของผม ผมตีตั๋วการบินไทยบินกลับจากโคราชมากรุงเทพในคืนนั้นเลยด้วยความเห่อ ระหว่างที่นั่งเครื่องบินกลับ ก็แอบอมยิ้มคนเดียวเหมือนคนบ้า แบบว่าดีใจอ่ะ นี่เราจะได้มาเป็นนักบินของการบินไทยเหรอ ฝันไปป่าววะเนี่ย

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยี่สิบปีแล้ว เวลามันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว จากนักบินฝึกหัดที่หัวหินหนึ่งปี ย้ายเข้ามาฝึกบินต่อที่การบินไทยอีกเกือบปีกว่าจะได้เป็นนักบินที่สามหรือซิสเต็มโอเปอเรเตอร์(System Operator) จนขึ้นชั้นมาเป็นนักบินที่สองหรือโคไพล๊อต (ที่นักข่าวชอบเขียนผิดว่าเป็นโคไพร็อต ฮ่วย! คนนะจ๊ะไม่ใช่นกแก้ว)ที่ฟลีตแอร์บัสเอสามร้อยบีโฟร์ ( A300B4) จนสุดท้ายผ่านการฝึกและตรวจสอบจนได้เป็นกัปตันหรือนักบินที่หนึ่ง แต่ละขั้นตอนต้องผ่านการฝึก การตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการเตรียมตัวบินทุกครั้งแบบเต็มร้อย

ทุกครั้งที่ทำหน้าที่ควบคุมการบิน ผมนึกถึงวันแรกที่ก้าวเข้ามาเสมอเพื่อเตือนตัวเองไว้ไม่ให้หลงระเริงกับบทบาทที่ได้รับ เราไม่ได้เป็นผู้วิเศษ เราเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบความปลอดภัยของผู้โดยสารและลูกเรือ ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สมกับที่บริษัทและผู้โดยสารไว้วางใจให้เราดูแลเครื่องบินและพาผู้โดยสารเดินทางถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ

ในนามของบริษัทการบินไทย ผมและลูกเรือทุกคนขอขอบพระคุณที่ท่านให้เกียรติเลือกใช้บริการกับเรา และหวังเป็นอย่างยิ่งจะได้มีโอกาสรับใช้ท่านอีก

ขอบคุณและสวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น