Powered By Blogger

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560

PILOT PROFICIENCY CHECK

PILOT PROFICIENCY CHECK


วันนี้ตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางจากโรงแรมที่พักในสิงคโปร์ไปยัง Boeing Singapore Training And Flight Services เพื่อไปฝึกบินใน Flight simulator แบบ B787-8 ที่เมืองไทยยังไม่มีให้บริการ ในหนึ่งปีผมต้องเดินทางไปยังสิงคโปร์สองรอบเพื่อทำการฝึกบินในซิมและถูกตรวจสอบโดยครูการบินของบริษัทซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ตรวจสอบความสามารถในการบินในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆและทบทวนความรู้การบินไปด้วย 
ครูการบินที่มาทำหน้าที่ควบคุมซิมและตรวจสอบนักบินนั้น ได้รับการแต่งตั้งโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้ทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยครับ ด้วยความที่กำลังพลในสำนักงานมีน้อย จึงได้มอบหมายให้มีตัวแทนของบริษัททำหน้าที่ดังกล่าวแทน ซึ่งครูการบินของบริษัทนั้นจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการบินเครื่องบินแบบดังกล่าวอยู่แล้ว 
สำหรับบริษัทการบินไทยนั้น ในหนึ่งปีจะต้องมาฝึกบินในซิมอย่างนี้สองครั้ง โดยแบ่งเป็นครึ่งปีมาทีนึง ในการฝึกบินหนึ่งครั้งจะจัดให้มีการบินสองวัน โดยในวันแรกเราเรียก Recurrent Flight Training หรือ RFT ซึ่งจะมีครูการบินท่านแรกมารันซิมมูเลเตอร์และให้เราฝึกท่าทางการบินและฝึกทำ Malfunction checklist เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย รวมไปถึงฝึกการประสานงานกันระหว่างนักบินทั้งสองที่เป็น Trainee ซึ่งปกติจะจัดให้กัปตันมาฝึกคู่กับนักบินผู้ช่วยครับ ในวันแรกที่เป็น RFT นั้น จะไม่ใช่การตรวจสอบว่าผ่านหรือตก แต่จะเป็นการฝึกก่อน ซึ่งจะใช้เวลาสี่ชั่วโมงในการบินซิม โดยTrainee จะผลัดกันเป็น Pilot flying คนละสองชั่วโมงครับ ครูการบินจะมีบทเรียนที่ออกแบบมาให้เราสามารถฝึกฝนท่าทางต่างๆและฝึกการทำงานร่วมกันอย่างครบถ้วนและเข้มข้นครับ 
ส่วนวันที่สอง เรียกว่า Pilot Proficiency Check หรือ PPC วันนี้จะเป็นวันตรวจสอบที่แท้จริง ครูการบินของการบินไทยซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจะทำการตรวจสอบความสามารถของนักบินว่าพร้อมจะทำการบินด้วยความปลอดภัยหรือไม่ การประสานงานระหว่างนักบินเป็นไปด้วยความราบรื่นและถูกต้องตาม Flight procedures หรือไม่ ทักษะการบินของแต่ละคนอยู่ในระดับที่บินได้ปลอดภัยหรือไม่ ครูการบินจะให้ฝึกการวิ่งขึ้นและลงจอดในสถานการณ์ต่างๆที่อาจจะไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตจริงเลย แต่สามารถมาฝึกบินในซิมได้ครับ อย่างเช่น สมมติให้เครื่องยนต์ดับไปข้างนึงหรือไฟไหม้เครื่องยนต์ระหว่างวิ่งขึ้น หรือสมมติสถานการณ์ว่ามีเครื่องบินอีกลำบินเข้ามาใกล้จนเกิดอันตรายแล้วดูว่านักบินสามารถแก้ไขสถานการณ์ไปได้หรือไม่ และสำหรับสายการบินที่ได้รับอนุญาตให้บินขึ้นและลงจอดในทัศนวิสัยตำ่ที่เรียกว่า Low visibility operations นักบินก็จะต้องฝึกบินและตัดสินใจให้ถูกต้องตามกฏการบิน ครูการบินผู้ตรวจสอบจะแนะนำเทคนิคการบินได้ด้วยในซิมมูเลเตอร์เพื่อให้นักบินได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและนำไปปฏิบัติได้จริง 
เมื่อตรวจสอบแล้วครูการบินมั่นใจว่าปลอดภัย ก็จะเซ็นกำกับในเอกสารส่วนตัวของนักบินแต่ละท่านว่าผ่านการตรวจสอบ เพื่อให้นักบินมีหลักฐานเก็บเอาไว้เผื่อถูกตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นๆของแต่ละประเทศที่บินไปครับ และเก็บเอกสารการตรวจสอบไว้ที่บริษัทเพื่อสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ในช่วงอายุการบินของนักบินการบินไทย ต้องทำอย่างนี้ตลอดครับ หากมีอายุการบินจนเกษียณที่หกสิบปีและเริ่มทำงานตอนอายุยี่สิบห้า นั่นหมายถึงต้องฝึกในซิมอย่างน้อยถึงหนึ่งร้อยสี่สิบวันทีเดียว ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่นับการฝึกบิน Transition training ซึ่งจะทำเมื่อเปลี่ยนแบบเครื่องบินทุกครั้งอีกด้วย 
การฝึกบินในซิมมูเลเตอร์เป็นตัวกระตุ้นให้นักบินต้องศึกษาทบทวนความรู้ความเข้าใจเสมอ เพื่อให้การบินจริงปลอดภัยมากยิ่งขึ้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น